วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มศว เปิดผลวิจัยแท็บเล็ต ป.1 "ไม่คุ้ม" มีผลต่อสายตา


มศว เปิดผลวิจัยแท็บเล็ต ป.1 "ไม่คุ้ม" มีผลต่อสายตา

มศว เปิดผลวิจัยนำร่องแท็บเล็ต ป.1 ไม่คุ้มทุน เด็กมีปัญหาสุขภาพสายตา ปวด-เคือง-แสบ แม้ช่วยกระตุ้นเรียนรู้-ฝึกคิดสร้างสรรค์ ด้านครูผู้สอนขาดความชำนาญ-หันพึ่งตำราเรียน "ผู้ปกครอง" ลั่นไม่เอาแท็บเล็ตกลับบ้าน สะท้อนอาจเกิดปัญหาจริยธรรม-ความรับผิดชอบ เครือข่าย Wi-Fi ไม่อำนวย อธิการบดี มศว เสนอ 5 ข้อให้รัฐบาลทบทวนนโยบาย ควรเริ่มที่ ป.4 ไม่จำเป็นต้องแจกทุกคน

ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) วันที่ 11 พ.ค.55 ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว ได้แถลงข่าวผลการศึกษาโครงการนำร่อง "การประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อการเรียนการสอน ในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐบาล ระยะที่ 1" ว่าจากการศึกษากับเด็ก 2 ช่วงชั้น คือ ชั้นป.1 และ ป.4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ในโรงเรียน(รร.) 5 แห่ง ได้แก่ รร.ราชวินิต กทม., รร.อนุบาลลำปาง จ.ลำปาง, รร.อนุบาลพังงา จ.พังงา, รร.สนามบิน จ.ขอนแก่น และ รร.สาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม โดยใช้ระยะเวลาทดลองในชั้นเรียน 6-7 สัปดาห์ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ม.ค.-มี.ค.55 พบว่า

ด้านผู้เรียน ส่งผลใน 2 ส่วน คือ พฤติกรรมการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้นไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการฝึกหัด และทำกิจกรรมที่หลากหลายจนพบความถนัดของตนเอง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี การฝึกคิดหลายวิธี และการสร้างสรรค์ ตลอดจนความสนใจใฝ่รู้ นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก ป.4 เรียนรู้ได้เร็วกว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเด็ก ป.1 และมีความแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียนด้วย ด้านการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนมีความสุข กระตือรือร้น และไม่พบปัญหาเด็กติดเกมส์

ส่วนด้านสุขภาพ พบว่าสุขภาพตา นักเรียนปวดตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการใช้แท็บเล็ต เนื่องจากกลุ่มที่ไม่ใช้แท็บเล็ต ก็มีการใช้สายตามองดูวัตถุในระยะใกล้ไม่แตกต่างกัน และมีค่าสายตาเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับด้านพฤติกรรมการสอนของครู ยังต้องพึ่งผู้ช่วยด้านเทคนิค ระหว่างการสอนที่ใช้แท็บเล็ต เพราะหากครูไม่ชำนาญการใช้แท็บเล็ต การเรียนการสอนก็จะยุติ เนื่องจากไม่สามารถพลิกหน้ากลับไปมาได้ แล้วต้องกลับไปใช้หนังสือสอนแทน ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารมองว่า การให้นักเรียนเรียนรู้จากสื่อในแบบรายบุคคล พร้อมกันทั้งห้องทำได้ยาก สำหรับการดูแล และควบคุมเวลา เนื่องจากผู้เรียนมีความแตกต่างกัน และยังพบปัญหาในเรื่องความพร้อมของนักเรียน ป.1

"ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการใช้แท็บเล็ต ไม่สามารถสอนเพิ่มได้ในเรื่องจริยธรรม และจะเกิดปัญหาขึ้นบนสื่อออนไลน์ ขณะที่ผู้ปกครองและชุมชน ให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบ ในกรณีแท็บเล็ตเสียหาย หรือสูญหาย และความไม่พร้อมของเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่บ้าน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองและชุมชนต้องการคือ จัดให้มีการอบรมผู้ปกครอง เพื่อดูแลบุตรหลานได้ และเห็นว่าไม่ควรให้นำแท็บเล็ตกลับบ้าน เพราะจะเกิดปัญหาการดูแลและความปลอดภัย อีกทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องเครือข่าย Wi Fi ในระดับชุมชน"

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวและว่า คณะทำงานศึกษาโครงการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายแก่รัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้

1.ควรมีการจัดทำแผนแม่บทในการแจกแท็บเล็ต โดยให้มีผลถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูประจำกลุ่มสาระ และมีผลต่อนักเรียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนมีผลถึงผู้ปกครองด้วย

2.กรณีที่จะแจกแท็บเล็ตอย่างกว้างขวาง ต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้ครบถ้วน และมีความน่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจมากขึ้นกว่าการเรียนในหนังสือ

3.จัดหาบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยครูทางเทคนิคในทุกโรงเรียน อย่างน้อยละโรงเรียนละ 1 คน

4.ถ้ามีงบประมาณจำกัดแ ละจำเป็นต้องเลือกแจกในบางชั้น ควรแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.4 ก่อน ป.1

และ

5.ถ้างบฯจำกัดไม่จำเป็นต้องแจกนักเรียนทุกคน โดยเปิดเป็นห้องเรียนแท็บเล็ต และจัดตารางเรียนให้นักเรียนหมุนเวียนกันมาใช้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบฯ แล้วนำมาพัฒนาครู จ้างช่างเทคนิค และพัฒนาเนื้อหาต่างๆ ได้ รวมถึงสามารถกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่โรงเรียนอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
"ผลการศึกษายังไม่สามารถชี้ชัดถึงผลกระทบในเชิงลบที่เกิดขึ้นชัดเจนใน ป.1และ ป.4 เพราะระยะเวลาศึกษาไม่นานพอที่จะให้เกิดผลลบได้ ส่วนผลบวก ป.4 มีความชัดเจนมากกว่า ป.1 เพราะสามารถใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลได้คุ้มค่ากว่า และเรียนรู้ได้เร็วกว่าในเรื่องการจัดการ สร้างสรรค์ ประเมิน และบูรณาการ"

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า การศึกษาครั้งนี้ใช้งบฯ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง มศว จะส่งผลการศึกษาให้ สพฐ. และนำเสนอรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะนำไปใช้ทบทวนนโยบายแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เมื่อผลการศึกษาระบุว่าแจก ป.4 คุ้มค่ากว่า ป.1 แล้วรัฐบาลยังเดินหน้าแจก ป.1 ก็ต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ว่าเพราะอะไร ซึ่ง มศว อยากจะเห็นการตัดสินใจนโยบายเชิงสาธารณะที่ใช้งบฯ จำนวนมากบนพื้นฐานของข้อมูล โดยใช้โครงการนี้เป็นตัวนำร่อง ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก



ที่มา สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น